วันจันทร์ที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

รีวิวหนังสือ ยกเครื่องความคิด (REWORK)



หนังสือ: ยกเครื่องความคิด (REWORK)
ผู้แต่ง: JASON FRIED, DAVID HEINEMEIER HANSSON
ผู้แปล: อาสยา ฐกัดกุล
ประเภท: บริหารธุรกิจ
    หนังสือเล่มนี้ผมได้มาเมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อนแล้ว โดยปกติการซื้อหนังสือของผมคือการไปร้านหนังสือแบบหัวว่างๆ เดินเปิดเดินอ่านไปเรื่อยๆ จนเจอเล่มที่สนใจก็จะซื้อกลับมา แต่เล่มนี้แตกต่างออกไปเพราะผมออกตามล่าเมื่อได้ข่าวว่าวางจำหน่าย เพียงเหตุผลที่ว่ามันถูกเขียนโดยบริษัท 37 Signals ที่เป็นบริษัทที่คิด Ruby on Rails Framwork ขึ้นมาแล้วให้โปรแกรมเมอร์ทั่วโลกได้นำไปใช้ฟรีๆ ซึ่งก่อนหน้านี้ผมทำงานด้านโปรแกรมมิ่งเป็นหลัก แล้วได้ทดลองใช้ RoR Framwork พบว่าใช้งานได้ดีมาก จนตกลงกันภายในทีมว่าจะใช้ตัวนี้ในการผลิตงานเป็นหลัก ต้องบอกว่าเป็นช่วงชีวิตที่เขียนโปรแกรมสนุกมาก Framwork ทำงานได้ดี เขียนง่าย Productivity ดีมากๆ จนตอนหลังได้รู้ว่าทีมที่พัฒนาฯ ได้เขียนหนังสือธุรกิจบอกถึงแนวทางการทำงานในบริษัทของพวกเขา สาวกอย่างผมจะยอมพลาดได้อย่างไร


    พอได้หนังสือเล่มนี้มาอ่านจนจบรอบแรกภายในคืนนั้น มีความรู้สึกแวบขึ้นมาในหัวทันทีว่า “พวกมึงแม่งอินดี้” เพราะแนวคิดต่างๆ มันช่างแตกต่างกับชาวบ้านชาวช่องเขาเหลือเกิน บางแนวคิดก็ค้านในใจแบบสุดขั้ว (อยากเขียนเมลล์ไปด่าคนเขียน แต่ภาษาอังกฤษไม่ค่อยอำนวย) เช่นแนวคิดที่ว่า “อย่าไปวางแผนเลย การวางแผนทางธุรกิจคือการเดาทางธุรกิจ การวางแผนการเงินคือการเดาทางการเงิน ทำไปวันๆ ดีกว่า แก้ปัญหาเฉพาะหน้าไปก็พอแล้ว” โห้!!! รับไม่ได้จริงๆ ครูบาอาจารย์สั่งสอนมาแต่ว่าต้องวางแผน ไม่มีแผนแล้วจะทำยังไงวะ ถึงว่า RoR ของพวกแกช่วงหลังๆ ติดตั้งบน Server ยากมาก วิธี Config ไม่เคยเหมือนเดิมเลยซักเวอร์ชั่น (ปัจจุบันผมหนีมาใช้ Yii Framwork แทนแล้ว RoR ไม่ใช้แล้วปวดหัว)
    แต่พอมีพี่ที่เคารพอยู่ท่านหนึ่ง ได้แนะนำว่าให้เอาหนังสือที่อ่านมาแล้ว และประทับใจมารีวิวบ้างก็ได้ ผมกลับนึกถึงเล่มนี้ เพราะเป็นหนังสือนอกกระแส และมีจุดเด่น(บ้าๆ บอๆ) แต่พอได้อ่านอีกครั้งถึงกลับทำให้ผมตกใจเพราะพบว่าปัจจุบันผมดันได้เอาแนวทางบางอย่างจากหนังสือเล่มนี้มาใช้ในการปฏิบัติงานประจำวันด้วย (ช่างน่ากลัวอะไรเช่นนี้ อ่านแค่รอบเดียวมันถึงขั้นฝังรากในฮิปโปแคมปัสตูเลยเหรอฟะ #!**#@*@####*)

ต่อไปคือบางแนวคิดของหนังสือเล่มนี้ 
(กรุณาอารธนาคุณพระศรีรัตนตรัยก่อนอ่าน ของเขาแรงจริง)

  • อย่าเรียนรู้จากความล้มเหลว
การวิวัฒนาการไม่ได้มีพื้นฐานมาจากความล้มเหลวในอดีต แต่พัฒนาขึ้นจากสิ่งที่ใช้ได้ผลดีอยู่แล้วต่างหาก ดังนั้นอย่าไปเชื่อคำพูดที่ว่า “คุณต้องเรียนรู้จากความผิดพลาด” ให้เรียนรู้จากความสำเร็จ
  • การวางแผนคือการคาดเดา
แผนธุรกิจเป็นแค่จินตนาการเท่านั้นเอง แผนการคือการใช้อดีตเป็นตัวชี้นำอนาคต คุณมีข้อมูลมากที่สุดสำหรับตัดสินใจก็ตอนลงมือทำ คิดให้ออกว่าสิ่งสำคัญที่สุดลำดับต่อไปที่คุณต้องทำคืออะไร และทำมันให้สำเร็จ
  • ทำไม่ต้องขยาย
หลายคนวัดความสำเร็จหรือความยิ่งใหญ่ของบริษัทจากจำนวนพนักงาน ยิ่งเยอะยิ่งดูเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ โดยลืมนึกไปว่าการรักษาขนาดของบริษัทให้เหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญ
การมีคนเยอะย่อมหมายถึงค่าใช้จ่ายทุกด้านสูงขึ้นด้วย เช่น ค่าเช่าพื้นที่ โครงสร้างพื้นฐานด้านไอที เฟอร์นิเจอร์สำนักงาน เป็นต้น
  • บ้างาน
การบ้างานเป็นสิ่งไม่จำเป็น เพราะแสดงถึงการแก้ปัญหาด้วยการทุ่มเวลานับไม่ถ้วนให้กับมัน แทนที่จะใช้กำลังสมอง

  • ค้นเองก็เกาเอง
วิธีที่ง่ายและตรงไปตรงมาที่สุดในการสร้างสินค้า และบริการที่ยอดเยี่ยมก็คือสร้างสิ่งที่คุณเองต้องการใช้ เพราะมันคือการออกแบบสิ่งที่คุณรู้จักดีอยู่แล้ว และคุณจะบอกได้ทันทีว่าผลงานของคุณดีพอหรือไม่


  • เร่ิมลงมือทำอะไรสักอย่าง
การมีไอเดียดีๆ ไม่ได้มีค่าอะไร จนกว่าจะลงมือทำ

  • ไม่มีเวลาไม่ใช่ข้ออ้าง
เมื่อคุณต้องการอะไรสักอย่างจนแทบคลั่ง คุณย่อมหาเวลาได้เสมอไม่ว่าคุณจะมีธุระมากมายแค่ไหน แต่เรื่องของเรื่องคือ คนส่วนใหญ่ไม่ได้ต้องการมันขนาดนั้น และพยายามปกป้องตัวเองด้วยคำว่าไม่มีเวลา อย่าปล่อยให้ตัวเองติดอยู่กับการหาข้ออ้าง การทำให้ความฝันเป็นจริงคือความรับผิดชอบของคุณเองล้วนๆ
  • การหาเงินจากภายนอกคือแผนสุดท้าย
เหตุผลคือ
- สูญเสียอำนาจการควบคุม
- “การหาเงิน” จะเริ่มมีความสำคัญกว่าการสร้างบริษัทที่มีคุณภาพ เพราะผู้ลงทุนย่อมต้องการเงินคืนเร็วที่สุด
- การใช้เงินคนอื่นทำให้ติดนิสัย
- มักเป็นข้อตกลงที่เสียเปรียบ เพราะตอนเริ่มต้นเราจะไม่มีอะไรไปต่อรองกับนักลงทุน ช่วงเริ่มต้นเป็นช่วงที่แย่ที่สุดในการเจรจาเรื่องเงินๆ ทองๆ
- ลูกค้าสำคัญน้อยลง เพราะต้องสร้างบริษัทตามที่นักลงทุนต้องการ
- การหาเงินทุนทำให้เปลืองเวลามหาศาล
  • ก่อนทำอะไรขอให้ตั้งคำถามว่า "มันจำเป็นจริงๆ หรือ?"


  • ลดขนาด
จงมีความสุขกับบริษัทขนาดเล็กๆ เพราะจะคล่องตัวที่สุด ยิ่งมีขนาดใหญ่แค่ไหนมันก็จะยิ่งต้องการพลังงานในการขับเคลื่อนไปในทิศทางที่ต้องการมากขึ้นเท่านั้น
บริษัทจะเริ่มอุ้ยอ้ายด้วยสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
- สัญญาระยะยาว
- พนักงานมากเกินไป
- การตัดสินใจที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้
- การประชุม
- ขั้นตอนที่ซับซ้อนยุ่งยาก
- สินค้าคงคลัง (ทั้งทางวัตถุและทางปัญญา)
- ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ และข้อผูกมัดทางเทคโนโลยี
- แผนการดำเนินงานระยะยาว
- การเมืองในบริษัท

  • มีความสุขกับข้อจำกัด
ข้อจำกัดนี่แหละเป็นข้อได้เปรียบที่คุณมองข้าม ทรัพยากรที่มีไม่มากนักทำให้คุณต้องสร้างงานจากสิ่งที่คุณมีอยู่ คุณจะปล่อยให้อะไรเสียเปล่าไม่ได้ และนั่นคือสิ่งบังคับให้คุณต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ เคยเห็นอาวุธของนักโทษในคุกไหมมันน่าอัศจรรย์มากที่สามารถทำมีดจากสบู่หรือช้อนพลาสติกได้
หรืออีกตัวอย่าง สายการบินเซาท์เวสต์ เลือกใช้แต่ Boeing 737 เท่านั้น ผลลัพธ์คือนักบิน พนักงานต้อนรับ ช่าง รวมถึงพัสดุอะไหล่ สามารถสลับสับเปลี่ยนกันได้ตลอดเวลา เป็นการลดต้นทุนมหาศาล

  • สร้าสินค้าให้เสร็จครึ่งหนึ่ง ดีกว่าสร้างสินค้าเสร็จสมบูรณ์แต่ไม่ได้เรื่อง
คุณทำทุกอย่างที่คุณต้องการให้ออกมาดีทั้งหมดไม่ได้หลอก คุณมีข้อจำกัดเรื่อง เวลา ทรัพยากร ความสามารถ และสมาธิ แค่ทำสิ่งเดียวให้ดียังยาก คุณคิดจะทำสิบอย่างพร้อมกันเลยหรือ?
ที่สำคัญ ไอเดียยอดเยี่ยมของคุณส่วนใหญ่ จะดูไม่ยอดเยี่ยมเท่าไหร่นักเมื่อคุณพิจารณามันอย่างจริงจัง

  • เริ่มต้นจากศูนย์กลาง
หาจุดศูนย์กลางให้เจอ แล้วทุมเทให้กับสิ่งนั้นเป็นอันดับแรก วิธีหาจุดศูนย์กลางคือให้ถามคำถามว่า “ถ้าเราตัดส่วนนี้ออกไป เราจะยังขายสิ่งที่เราต้องการได้หรือไม่"

  • อย่าสนใจในรายละเอียดในช่วงเริ่มต้น
การหมกมุ่นอยู่กับรายละเอียดในช่วงเริ่มต้นจะนำไปสู่ความเห็นขัดแย้ง คุณจะเสียเวลาในการตัดสินใจในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็อาจจะต้องเปลี่ยนแปลงในภายหลัง

  • การฟันธงคือการเดินไปข้างหน้า
เมื่อคุณผัดผ่อนการตัดสินใจออกไป ปัญหาที่คั่งค้างจะเริ่มกองสุม และมักถูกมองข้าม หรือจัดการอย่างลวกๆ พอให้ผ่านไป หรือไม่ก็โยนทิ้งไปเลย จงบับคับตัวเองให้ตัดสินใจเสียแต่ตอนนี้

  • เหตุผลที่คุณควรจะหยุด
ต่อไปนี้คือคำถามที่คุณควรจะถามตัวเองเพื่อให้แน่ใจว่าคุณกำลังทำงานที่มีความสำคัญอยู่จริงๆ
- ทำไมคุณถึงทำสิ่งนี้
- ใครเป็นคนได้ประโยชน์
- อะไรจูงใจให้คุณรู้สึกว่าต้องทำ
- คุณกำลังแก้ปัญหาอะไร
- ปัญหาคืออะไร
- ลูกค้าของคุณกำลังสับสนหรือเปล่า
- คุณกำลังสับสนหรือเปล่า
- มันมีประโยชน์จริงหรือเปล่า
- คุณกำลังเพิ่มคุณค่าอยู่หรือเปล่า
การเพิ่มอะไรสักอย่างเป็นเรื่องง่าย แต่การเพิ่มคุณค่าเป็นเรื่องยาก สิ่งที่คุณทำอยู่เป็นการทำให้สินค้าของคุณมีค่ามากขึ้นสำหรับลูกค้าหรือเปล่า ลูกค้าจะได้รับประโยชน์มากกว่าที่เคยเป็นใช่ไหม
- มันจะเปลี่ยนพฤติกรรมหรือเปล่า
- มีวิธีที่ง่ายกว่านี้ไหม
- ถ้าไม่ต้องทำสิ่งนี้คุณจะทำอะไรแทน
- มันคุ้มค่าจริงหรือเปล่า

  • การขัดจังหวะเป็นศัตรูของผลผลิต
การจะทำงานได้ดีจะต้องอยู่ในภาวะปลีกวิเวก เมื่อจำเป็นต้องสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน หรือคนอื่นๆ ควรใช้วิธีที่ช้าลงหน่อยเช่น อีเมลล์ แทนการสื่อสารที่เป็นการขัดจังหวะเพื่อนร่วมงาน นั้นจะช่วยให้พวกเขาตอบกลับเมื่อพวกเขาสะดวก
วิธีการประชุม
- ตั้งเวลาจับเวลา เมื่อนาฬิกาดังต้องเลิกประชุมทันที
- เรียกคนเข้าประชุมให้น้อยที่สุด
- มีระเบียบวาระที่ชัดเจนเสมอ
- เริ่มต้นที่ปัญหาที่เฉพาะเจาะจง
- นัดประชุมในสถานที่เกิดปัญหาแทนห้องประชุม ชี้ไปที่ปัญหาและเสนอแนะวิธีแก้ไขที่จับต้องได้
- จบการประชุมด้วยทางออกสำหรับปัญหา และผู้ปฏิบัติ

  • แก้ปัญหาแบบยูโด
ใช้แรงกายแรงใจให้น้อยที่สุด แต่สร้างผลลัพธ์ให้ได้มากที่สุด

  • อย่าทำตัวเป็นฮีโร่
บางทีทางออกที่ดีที่สุด คือการล้มเลิกหรือหยุดทำงานชิ้นนั้น มันไม่ใช่เรื่องล้มเหลวแต่บางครั้งมันก็เป็นวิธีที่เหมาะสมที่สุด เมื่อคุณใช้เวลามากเกินไปในการทำอะไรสักอย่างที่ไม่คุ้มค่า

  • ทำให้น้อยกว่าคู่แข่ง
คติประจำใจนักธุรกิจรุ่นเก่าคือ ถ้าคุณต้องการชนะคู่แข่ง คุณต้องนำคู่แข่งอย่างน้อยหนึ่งก้าว ลองเปลี่ยนมาชนะคู่แข่งด้วยการทำให้น้อยกว่าคู่แข่งดูบ้าง ลองแก้ปัญหาเล็กๆ แล้วปล่อยปัญหาใหญ่ๆ ยุ่งยากมากเรื่องให้คู่แข่งของคุณแก้
  • ปฏิเสธเสียบ้าง
การตอบสนองลูกค้าช่างติเพียงไม่กี่คนให้พอใจ ย่อมไม่คุ้มกับการทำให้ลูกค้าที่เหลือทั้งหมดไม่พอใจแน่นอน

  • การตลาดไม่ใช่แค่แผนก
การสื่อสาร = การตลาด คุณสื่อสารตลอดเวลา ซึ่งแปลว่าคุณกำลังทำการตลาดอยู่ตลอดเวลาด้วย

  • ลองทำด้วยตัวเองก่อนที่จะจ้างคนอื่นมาทำ

  • ว่าจ้างเมื่อเริ่มเจ็บ
ถามตัวเองเสมอว่า
- ถ้าเราไม่จ้างใครมาช่วยเลยจะเป็นอย่างไร
- งานที่เราจะจ้างคนมาทำ มันจำเป็นจริงๆ หรือเปล่า
- เราแก้ปัญหาโดยการเปลี่ยนวิธีการทำงานได้ไหม
- แล้วถ้าเราไม่ทำเลยละจะเป็นอย่างไร
ขอพอเท่านี้ก่อน แค่นี้ก็ยาวมากแล้ว สำหรับเล่มนี้ผมต้องบอกว่าน่าอ่านครับ ไม่ใช่ว่าเป็นแนวทางที่น่าปฏิบัติตามทั้งหมด แต่น่าอ่านในภาพของความแปลกแหวกแนว ถ้าใครสนใจรองไปหามาอ่านดูครับ ได้แนวคิดแปลกๆ ดี เราไม่จำเป็นต้องเชื่อทุกอย่างที่หนังสือบอกเรา แต่บางครั้งเราก็ต้องอ่านเพื่อเติมเต็มแนวคิดที่หลากหลาย
ปล. ลองแนะนำหนังสือเข้ามาได้นะครับ ผมกับภรรยาจะได้ตามไปอ่านบ้าง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น