วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

รีวิวหนังสือ สงครามไซเบอร์ (CYBER WAR)





ชื่อหนังสือ: สงครามไซเบอร์ (CYBER WAR)
ผู้เขียน: Richard A. Clark and Robert K. Knake
ผู้แปล: ไพรัตน์ พงศ์พานิชย์
ประเภท: สารคดี
    Cyber War เป็นสงครามที่ไม่ต้องมีการเคลื่อนกำลัง ไม่ต้องมีการยิงปืนใหญ่ ทิ้งระเบิด หรือลั่นกระสุนใดๆ ทั้งสิ้น เพียงแค่อยู่หลังคอมพิวเตอร์ก็สามารถจู่โจมระบบการเงิน ระบบสาธารณูปโภค การขนส่ง หรือแม้กระทั้งทำลายระบบการสั่งการทางทหารของประเทศเป้าหมายได้


    ผู้เขียนเล่มนี้เคยเป็นที่ปรึกษาด้านความมั่นคงของประธานาธิบดีสหรัฐอเมริการถึง 3 ท่าน คงจะหาคนที่จะเหมาะสมไปกว่านี้ไม่ได้แล้ว ที่จะให้บอกเล่าเรื่องราวให้เห็นภาพว่า สงครามไซเบอร์คืออะไร ปฏิบัติการกันอย่างไร และถ้าสงครามไซเบอร์เกิดขึ้นจริงจะสร้างความสูญเสียแก่เป้าหมายอย่างไร

โดยงานเขียนเล่มนี้ผู้เขียนมีวัตถุประสงค์เพื่อ

1.) เพื่อทำความเข้าใจ เตรียมพร้อม และจัดทำยุทธศาสตร์ในด้านนี้ เพื่อการรุกและรับ ทั้งยามสงคราม และยามปกติ
2.) สงครามไซเบอร์ ไม่ใช่สงครามที่ไร้เหยื่อ ไม่สะอาดผุดผ่อง และไม่ใช่อาวุธลับที่ต้องเก็บงำ ผู้เขียนมีความคิดว่าสงครามไซเบอร์สามารถสร้างความเสียหายได้กว้างขวางเท่าสงครามนิวเคลียร์ หรือมากกว่า และเช่นอาวุธนิวเคลียร์ การมีไว้มิใช่เพื่อใช้ แต่มีเพื่อไม่ใช้ ดังนั้น การประกาศว่าตนมีกองทัพแฮกเกอร์ที่มีความสามารถ ก็เพื่อป้องกันการใช้งาน


    หนังสือเปิดฉากเริ่มเรื่องในวันที่ 6 กันยายน 2007 ที่กองทัพอิสราเอลส่งเครื่องบิน F-15 และ F-16 หลายลำล่วงล้ำไปทิ้งระเบิดใส่หมู่อาคารที่กำลังก่อสร้างในประเทศซีเรีย โดยหมู่อาคารเหล่านั้นถูกสร้างโดยวิศวกร และคนงานของเกาหลีเหลือ ซึ่งตอนหลังตรวจพบสารกัมตภาพรังสีตกค้างในพื้นดินบริเวณนั้น (คาดว่าอาจเป็นที่วิจัยอาวุธนิวเคลียร์) ที่น่าแปลกใจคือก่อนหน้านี้ซีเรียได้ลงทุนหลายพันล้านดอลลาร์เพื่อติดตั้งระบบป้องกันภัยทางอากาศจากรัสเซีย แต่ระหว่างการโจมตีระบบป้องกันดังกล่าวไม่ทำงาน เรดาห์ยังคงเปิดอยู่แต่ไม่สามารถตรวจพบอากาศยานของอิสราเอลแม้แต่ลำเดียว
มีนักวิเคราะห์ออกมาเสนอแนวทางที่อิสราเอลสามารถ “ครอบครอง” ระบบของซีเรียได้ 3 แนวทางคือ
1.) ใช้ UAV ที่เคลือบสารดูดซับสัญญาณเรดาห์บินเข้าน่านฟ้าซีเรีย โดยปกติเรดาห์มีลักษณะคลายประตูรับสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ UAV สามารถส่งชุดข้อมูลคอมพิวเตอร์กลับไปยังคอมพิวเตอร์ของเรดาห์ โดย data packets ดังกล่าวจะทำให้ทั้งระบบทำงานผิดพลาด
2.) รหัสคอมพิวเตอร์ของระบบป้องกันของซีเรียรั่วไหล อาจจากทางรัสเซีย หรือจากทางซีเรียเองก็ตาม แล้วถูกติดตั้ง “แทรปดอร์” ก่อนที่มันจะถูกนำไปติดตั้ง โดยแทรปดอร์จะถูกโปรแกรมให้ตอบสนองคำสั่งเฉพาะที่ถูกส่งเข้ามา ซึ่งอาจจะมาจาก UAV ของอิสราเอลก็ได้ โดยส่งชุดระหัสเฉพาะเพื่อเปิดการทำงานพิเศษบางอย่าง ในที่นี้คือทำให้ระบบเรดาห์ดูเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น
3.) ให้สายลับแทรกซึมเข้าไปเพื่อค้นหาสายไฟเบอร์ออฟติกของระบบป้องกันของซีเรียที่วางเครือข่ายไปทั่วประเทศ แล้วทำการแฮกทางสาย แต่วิธีนี้เป็นไปได้ยากที่สุด
แต่ทั้งหมดยังไม่มีใครทราบว่าอิสราเอลทำได้อย่างไร


   อีกกรณีศึกษาที่หนังสือยกขึ้นมาคือ ตอนสงครามพายุทะเลทรายครั้งที่ 2 ระบบเครือข่ายของกองทัพอิรักเป็นระบบปิดแยกเป็นเอกเทศ และมั่นคงอย่างยิ่ง แต่ก็ถูกทางกองทัพสหรัฐฯ แฮกได้สำเร็จ (วิธียังถูกปกปิด)  ทหารอิรักนับหมื่นได้รับอีเมลล์จากกระทรวงกลาโหมของอิรักเอง โดยมีเนื้อความประมาณนี้
“นี่คือสารจากกองทัพสหรัฐฯ เราได้รับคำสั่งให้บุกอิรัก แต่ไม่ประสงค์จะสร้างความเสียหายแก่ท่านและทหารของท่าน เพราะเป้าหมายคือโค้นล้ม ซัดดัม ฮุสเซน เพียงอย่างเดียว ขอให้ท่านนำอาวุธเก็บในที่ตั้งแล้วเดินทางกลับบ้าน เมื่อเปลี่ยนแปลงรัฐบาลแล้ว ท่านจะได้รับสถานภาพกลับคืน"
ทำให้ทหารอิรักจำนวนมากได้รับคำสั่งให้ลากลับบ้านก่อนการโจมตีเพียงไม่กี่ชั่วโมง

จาก 2 เหตุการณ์จะเห็นประโยชน์ของสงครามไซเบอร์สองอย่างคือ
1.) เพื่อทำให้การโจมตีตามรูปแบบทำงานง่ายขึ้น
2.) เพื่อบั่นทอนขวัญ และกำลังใจของฝ่ายศัตรู
    เดิมทีการโจมตีทางไซเบอร์ส่วนใหญ่จะถูกกระทำกันอย่างลับๆ เช่น สร้าง Worm Virus ที่มีการทำงานเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งต่อเป้าหมาย แล้วพยายามให้คอมพิวเตอร์จำนวนมากติดไวรัสเพื่อแปลงสภาพเป็นเครื่องจักรสำหรับโจมตี แต่ปัจจุบันได้มีการเกณฑ์พลังของคอมพิวเตอร์ของประชาชนทั่วไปเข้าร่วมสงครามไซเบอร์แบบสมัครใจ ซึ่งเหตุการณ์นี้เคยเกิดขึ้นแล้วเมื่อ 8 สิงหาคม 2008 แฮกเกอร์รัสเซียได้ทำโปรแกรมให้ดาวน์โหลดในเว็บไซต์ต่างๆ โดยมีข้อความว่าต่อต้านจอร์เจีย โดยเมื่อผู้อาสาจะเข้าร่วมแค่ติดตั้งโปรแกรมดังกล่าวแล้วกดปุ่ม “เริ่มการโจมตี” โปรแกรมก็จะทำ DDos ไปยังระบบ Network ของ จอร์เจีย ซึ่งมีผู้เข้าร่วมอาสาเป็นจำนวนมาก ผลคือจอร์เจียถูกตัดขาดทางข้อมูลข่าวสาร ธนาคารปิดเซิร์ฟเวอร์ของตนเองเพราะกลัวถูกขโมยข้อมูล ระบบโทรศัพท์ล่ม ซึ่งการถล่มทางคอมพิวเตอร์เริ่มในช่วงเวลาที่ทางกองทัพรัสเซียส่งกองทัพเข้าโจมตีซีเรีย แต่รัฐบาลรัสเซียไม่ยอมรับการปฏิบัติการทางไซเบอร์ เพียงแต่บอกว่าอาจเป็นการกระทำของกลุ่มรักชาติรัสเซีย

ลักษณะของสงครามไซเบอร์

1.) สงครามไซเบอร์โจมตีกันด้วยสปีดความเร็วแสง
จากเริ่มโจมตีจนเกิดผลการโจมตีแถบจะเกิดพร้อมกัน ดังนั้นการสั่งการบังคับบัญชาเพื่อตั้งรับ หรือตอบโต้จะทำได้ยาก เพราะสถานการณ์จะเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
2.) สงครามไซเบอร์คือสงครามโลก
เมื่อเริ่มการโจมตี คอมพิวเตอร์จากทั่วโลกจะถูกดึงเข้าสู่สงคราม
3.) สงครามไซเบอร์ ก้าวข้ามสมรภูมิรบ
เป้าหมายมิได้มีเพียงเป้าหมายทางการทหารเท่านั้น โดยส่วนใหญ่จะรวมถึงระบบเศรษฐกิจ และระบบสาธารนูปโภคด้วย
4.) สงครามไซเบอร์ได้เริ่มขึ้นแล้ว
ในหลายประเทศได้จัดตั้งหน่วยงานขึ้นมารับผิดชอบแล้ว เช่น เกาหลีเหนือ จีน และสหรัฐอเมริกา รวมถึงได้เริ่ม “เตรียมการเพื่อทำสงคราม” เรียบร้อยแล้ว โดยการจัดวาง “แทรปดอร์” และ “ลอจิก บอมบ์” ในฝ่ายศัตรูเรียบร้อยแล้ว
5.) สงครามไซเบอร์ จะเป็นทั้งปฏิบัติการร่วมกับสงครามที่มีการเคลื่อนกำลัง และสงครามลำพัง


    สรุปหนังสือเล่มนี้ไม่ได้ลงเทคนิควิธี แต่จะเป็นการเล่าเหตุการณ์ต่างๆ และแนวทางที่ประเทศต่างๆ กำลังที่จะทำไปในอนาคต ถือเป็นหนังสือที่อ่านสนุกมากเล่มหนึ่ง ขอให้มีความสุขในการอ่านกันนะครับ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น