วันพุธที่ 9 ธันวาคม พ.ศ. 2558

รีวิวหนังสือ สงคราม ๙ ทัพ





หนังสือ: สงคราม ๙ ทัพ
ผู้แต่ง: อุทยานประวัติศาสตร์สงคราม ๙ ทัพ
สำนักพิมพ์: อุทยานประวัติศาสตร์สงคราม ๙ ทัพ
ประเภท: สารคดี,  ประวัติศาสตร์



ในปี ๒๕๕๘ นี้  ผมได้มีโอกาสเดินทางไปเที่ยวที่จังหวัดกาญจนบุรีหลายครั้ง   ได้ไปดูพื้นที่ประวัติศาสตร์หลายแห่ง  ทำให้คิดถึงหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา เพราะครบรอบ ๒๓๐ ปีพอดี  เลยขอหยิบนำมารีวิวให้อ่านกันเพลินๆ 

            สงครามเก้าทัพถือเป็นสงครามครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สงครามระหว่างไทยกับพม่า   พระเจ้าปดุงได้ระดมสรรพกำลังมากกว่าแสนสี่หมื่น  เพื่อหวังเข้าปราบกรุงรัตนโกสินทร์ ให้อยู่ภายใต้เศวตฉัตรอมรปุระให้จงได้  แต่ด้วยพระปรีชาสามารถของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  และของเหล่าขุนศึกคู่พระทัย  จึงทำให้เราสามารถชนะศึกครั้งนี้  ทั้งที่มีไพร่พลน้อยกว่ามาก


เส้นทางเดินทัพของพม่า

            ในปี พ.ศ. ๒๓๒๗-๒๓๒๘ พระเจ้าปดุงได้ระดมกำลังได้กว่าหนึ่งแสน  ประกอบไปด้วยช้าง ๕๐๐  ม้า ๑๓,๓๐๐  ไพร่ราบ ๑๓๓,๐๐๐ (ตัวเลขจากหลายๆ แหล่งไม่ตรงกัน)  โดยแบ่งเส้นทางเดินทัพเข้ามาอาณาจักรสยามถึงห้าทางดังนี้
            ๑.  เส้นทางมะริด  มี “แมงยีแมงกองจอ” เป็นแม่ทัพ  นำทัพประมาณ ๑๐,๐๐๐  และเรือกำปั่น ๑๕ ลำ  
ภารกิจเพื่อ สะสมเสบียงอาหารที่เมืองเมาะตะมะ  และเข้าตีหัวเมืองทางใต้

            ๒.  เส้นทางทวายตัดเข้าด่านบ้องตี้ หรือด่านนรสิงห์ จังหวัดราชบุรี  มี “เนเมียวนรทา”  เป็นแม่ทัพนำพล  ๑๐,๐๐๐ 
เพื่อหวังตีจากทางใต้ขึ้นไปกรุงรัตนโกสินทร์

            ๓.  เส้นทางเชียงแสน เชียงใหม่  มี “โหวงยีตะโดศิริมหาอุสนา”  เป็นแม่ทัพ  นำทัพม้า ๓,๐๐๐  ไพร่ราบ ๓๐,๐๐๐  
ภารกิจตีกวาดจากเชียงใหม่ลงมาลำปาง สวรรคโลก สุโขทัย  และหัวเมืองทางแม่น้ำยม  พร้อมทั้งสะสมเสบียง  เพื่อมาสนธิกำลังกับทัพหลวง
ของพระเจ้าปดุงเพื่อเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์ พร้อมกัน

            ๔.  เส้นทางด่านเจดีย์สามองค์  ทางนี้เป็นเส้นทางหลักมีกำลังพลมากที่สุด  ประกอบไปด้วย ๔ กองทัพด้วยกันคือ
                        ๔.๑  ทัพของ “ตะโดแมงสอ”  ซึ่งเป็นพระราชโอรส  มีทัพม้า ๑,๑๐๐  ไพร่ราบ ๑๑,๐๐๐
                        ๔.๒  ทัพของ “สิริธรรมราชา”  เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปดุงเช่นกัน  มีทัพม้า ๑,๒๐๐  ไพร่ราบ ๑๒,๐๐๐
                        ๔.๓  ทัพของ “แมงโหวงเมงยีมหาแมงกอง”  แม่ทัพม้า  มีทัพม้า ๑,๐๐๐  ไพร่ราบ ๑๐,๐๐๐
                        ๔.๔  ทัพหลวงของ “พระเจ้าปดุง”  มีช้าง ๕๐๐  ม้า ๕,๐๐๐  และไพร่ราล ๕๐,๐๐๐

ด่านเจดีย์สามองค์
           
การเดินทัพสมัยก่อนจะเดินทัพตรงบริเวณที่ราบระหว่างช่องเขา  เพื่อให้เดินทัพง่าย
ภาพนี้ถ่ายในฝั่งพม่า


            ๕.  เส้นทางระแหงแขวงเมืองตาก (ด่านแม่ละเมา)  มี “นรทาจอข่อง”  เป็นแม่ทัพ  มีไพร่ราบ ๕,๐๐๐  
ภารกิจตีกวาดหัวเมืองตามลำน้ำปิง  ตาก กำแพงเพชร

การจัดทัพของกรุงรัตนโกสินทร์

            การจัดทัพของฝั่งสยามได้แบ่งกำลังออกเป็นสี่ส่วน  โดยสามส่วนออกไปตั้งรับศึกนอกพระนคร  เนื่องจากกลยุทธเดิมที่เคยตั้งรับภายในพระนครแล้วรอให้ถึงฤดูน้ำหลากเพื่อให้พม่าถอยกลับนั้น  มิอาจมั่นใจได้ว่าจะสามารถทำได้  เช่นคราวเสียกรุงศรีอยุธยาครั้งที่ ๒ ในปี พ.ศ. ๒๓๑๐  เราก็ได้ใช้กลยุทธรอน้ำหลาก  แต่กรุงฯ ก็ยังแตก  และอีกประการคือในการศึกสงครามเก้าทัพครั้งนี้  ทัพพม่าได้ยกกำลังมามากเกินกำลังของฝ่ายเราเป็นอันมาก  ถ้าตั้งรับนะจุดเดียวจะเอาชนะได้ยาก  โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  ท่านได้แบ่งกำลังดังนี้

            ๑. ให้ กรมพระราชวังบวรสถานภิมุข (วังหลัง)  ถือไพร่พล ๑๕,๐๐๐ นาย  ไปตั้งรับที่นครสวรรค์  เพื่อประวิงเวลาทัพพม่าที่ยกลงมาจากทางเหนือให้นานที่สุด

            ๒.  กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท (วังหน้า)  ยกไพร่พล ๓๐,๐๐๐ เคลื่อนไปตั้งรับที่ปากแพรก จังหวัดกาญจนบุรี  เพื่อสกัดทัพพม่าที่เข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์ที่ยกมากว่า ๘๐,๐๐๐
พระอนุสาวรีย์ กรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาท ณ อุทยานประวัติศาสตร์สงคราม ๙ ทัพ จ. กาญจนบุรี



            ๓.  เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์ (บุญรอด)  กับเจ้าพระยายมราช  นำกำลัง ๕,๐๐๐  ไปสกัดทัพอยู่ที่เมืองราชบุรี  เพื่อรอรับศึกทางด่านบ้องตี้  และตัดเส้นทางส่งเสบียงทางใต้

            ๔.  พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  เตรียมไพร่พล ๒๐,๐๐๐  ตั้งรับในเขตพระนคร  และคอยเป็นทัพหนุนให้กับทัพอื่นๆ

ก่อนหน้าที่พระเจ้าปดุงจะยกทัพเข้ามาตีกรุงรัตนโกสินทร์ในปี ๒๓๒๘ นั้น  ได้เตรียมการก่อนหน้านั้นแล้ว  โดยให้ แมงยีแมงกองจอ นำกำลัง  ๑๐,๐๐๐  ไปเตรียมเสบียงที่เมืองเมาะตะมะ  ซึ่งทุกครั้งที่พม่าจะยกเข้ามาตีสยาม  ไม่ว่าครั้งใดก็ตามจะใช้เมืองเมาะตะมะเป็นจุดประชุมพล  คาดว่าด้วยชัยภูมิที่ดี  เป็นจุดที่เมื่อจะแยกกำลังเข้าตีนั้น สามารถเข้าตีได้หลายจุด  และภารกิจนี้คงใช้เวลานานพอสมควร  และเมื่อเตรียมเสร็จแล้วให้ยกทัพไปที่เมืองมะริด  เพื่อเตรียมเข้าตีตะกั่วป่า ตะกั่วทุ่ง และถลางต่อไป 

แต่การณ์ปรากฎว่าเสบียงที่เตรียมไว้ไม่พอเลี้ยงทัพกว่าแสนของพระเจ้าปดุงได้  ทำให้พระเจ้าปดุงโกรธมาก ได้รับสั่งให้เรียกตัวแมงยีแมงกองจอกลับมาจากมะริด  แล้วประหารเสีย   ซึ่งเหตุการณ์นี้ท่าน อ.สุเนตร  ชุตินธรานนท์ ได้เคยสันนิฐานว่าเป็นเหตุให้พระเจ้าปดุงตัดสินพระทัยแยกทัพออกเป็นห้าทาง  เมื่อให้เหลือปากท้องที่ต้องเลี้ยงดูน้อยลง  และให้ทัพต่างๆ  เข้าตีตามหัวเมือง, หมู่บ้านต่างๆ เพื่อสะสมเสบียงเอาเอง  แล้วได้ยกกำลังส่วนใหญ่เข้าตีผ่านทางด่านเจดีย์สามองค์  เพื่อเร่งรัดการศึกให้สั้นที่สุด  โดยมายั้งทัพอยู่ที่บริเวณสามประสบ  ที่ซึ่งมีแม่น้ำสามสายมาประสบกัน  คือแม่น้ำซองกาเลีย  แม่น้ำรันตี  และแม่น้ำบีคลี่   ซึ่งปัจจุบันก็คือบริเวณอำเภอสังขละบุรีนั้นเอง
บริเวณยั้งทัพของพระเจ้าปดุง สามประสบ  (อ. สังขละบุรีปัจจุบัน)


และการเคลื่อนทัพเข้าตีกรุงรัตนโกสินทร์จากนี้  จะให้เดินทัพเป็นช่วงชั้นสี่ทัพ  เพื่อให้เกิดแนวรบที่กินบริเวณกว้าง  และเป็นการระวังป้องกันภัยให้แก่กันด้วย  โดยให้ทัพของ แมงโหวงเมงยีมหาแมงกอง  เป็นทัพหน้า  ตามด้วยทัพของตะโดแมงสอ, สิริธรรมราชา  และทัพของพระเจ้าปดุง  ตามลำดับ  

ซึ่งก่อนออกเดินทัพพระเจ้าปดุงได้สอบถามถึงปริมาณเสบียงของทัพแมงโหวงแมงยีมหาแมงกอง  ว่ามีเพียงพอหรือไม่   แมงโหวงแมงยีมหาแมงกองแกรงพระอาญาเช่นแมงยีแมงกอจอ  จึงได้โกหกว่ามีเสบียงเพียงพอถึงหนึ่งเดือน  ทำให้พระเจ้าปดุงวางพระราชหฤทัยให้ยกทัพออกไป

แต่เรื่องพม่าขาดเสบียงนี้ก็มิได้รอดพ้นการข่าวของฝ่ายสยาม  จึงทำให้ ร.๑  ท่านได้ให้แบ่งกำลัง  ๓๐,๐๐๐  มีกรมพระราชวังบวรสุรสิงหนาทเป็นแม่ทัพ  เข้าสกัดทัพหลวงของพระเจ้าปดุงที่กาญจนบุรี  โดยคิดว่าการสงครามครั้งนี้จะรู้แพ้รู้ชนะก็ขึ้นอยู่ที่การศึกที่กาญจนบุรีเป็นแน่    และยังได้แต่งทูตส่งไปพบพระเจ้าปดุง  เพื่อหวังทำสงครามการข่าว  ซึ่งทูตคนนี้เคยเป็นข้าเก่าของพระเจ้าปดุง  แต่โดนกวาดต้อนมาเป็นเชลยนานมาแล้ว  โดยในพระราชสาส์นมิได้มีข้อความใดมากมาย  มีแต่ขอความว่าให้ทางพระเจ้าปดุงยกทัพกลับไปเถิด  เพราะการทำสงครามก็ยังแต่จะทำให้สมณะชีพราหมณ์เดือดร้อน

            เมื่อพระเจ้าปดุงได้รับพระราชสาส์นก็ไม่ใด้สนพระทัย  แต่ได้สอบถามราชทูตที่เคยเป็นข้าเก่าว่า  ทางรัตนโกสินทร์ได้เตรียมรับศึกสงครามครั้งนี้เช่นไร  ทางราชทูตได้ทูนว่า ทางรัตนโกสินทร์ได้ทราบข่าวว่าทัพพม่ายกทัพเข้ามาทางด่านเจดีย์สามองค์กว่าแสน (ความจริงไม่ถึง)   ทางพระเจ้าอยู่หัวจึงให้เกณฑ์ไพร่พลเท่าที่มีอยู่เกือบทั้งหมดเข้ามาสกัดทัพ ณ ทุ่งลาดหญ้า (จริงๆ มีแค่สามหมื่น)  เมื่อพระเจ้าปดุงทราบเช่นนั้น  จึงเป็นห่วงทัพของแมงโหวงแมงยีมหาแมงกอง ว่าจะมีกำลังไม่เพียงพอจะทำศึก  ได้มีรับสั่งให้ตะโดแมงสอพระราชโอรส  เร่งนำทัพลงไปช่วย  โดยมิได้ทราบเลยว่าทัพของแมงโหวงแมงยีฯ อดอยากมาก  ส่วนทัพของตะโดแมงสอก็มีเสบียงไม่พออยู่แล้ว  เมื่อผสมทัพกันจึงทำให้ยิ่งอดอยากหนักขึ้น  ถึงขั้นต้องฆ่าพาหนะ ม้า วัว  มาเป็นอาหาร  

            ทางฝ่ายกรมพระราชวังบวรฯ (วังหน้า)  ก็ได้ส่งพระยาสีหราชเดโชไชย พระยาท้ายน้ำ  พระยาเพชรบุรี  นำกำลังออกไปทำสงครามกองโจรคอยซุ่มโจมตี (ambush) ปล้นสะดมกองเสบียงของพม่า ที่พุตะไคร้ เพื่อหวังให้ทัพพม่าอ่อนกำลังที่สุด  แต่พระยาทั้งสามทำการไม่สำเร็จ  จึงมีรับสั่งจากพระราชวังบวรฯ ให้ประหารชีวิตเสียทั้งสามคน  และทรงให้พระองค์เจ้าขุนเณรทำหน้าที่แทน          โดยมีขุนรัตนาวุธอาสาตามไปด้วย ซึ่งทำการได้ดีเสบียงไม่ถึงทัพหน้าของพม่า  อีกทั้งกรมพระราชวังบวรฯ  ได้รับสั่งให้ใช้ท่อนไม้แทนกระสุนปืนใหญ่ยิงใส่พม่าตลอดเวลา  เพราะต้องการลดการลำเลียงกระสุนเหล็กจากเมืองหลวง  และใช้ท่อนไม้ปืนจะไม่ร้อนยิงได้ตลอด  พอยามค่ำคืนก็ให้ทหารลอบออกไปนอกป้อมค่าย  ครั้นเพลาเช้าก็ให้แต่ทัพประดับธงทิว  เหมือนทัพของกรมพระราชวังบวรฯ  มีกำลังมาเสริมอยู่เรื่อยๆ 

รวมถึงให้พระยามหาโยธา (เจ่ง) คุมทหารมอญ ๓,๐๐๐  ไปทำหน้าที่รักษาด่านรบที่โป่งปัด เพื่อตั้งเป็นแนวต้านทานหลัก (Mainline of Resistance)  เพื่อชลอเวลาการเดินทัพของพม่าให้ช้าลง และเมื่อมีโอกาสให้ใช้แนวนี้เป็นแนวออกตี (Line of Departure)  แต่กำลังพลที่น้อยกว่าทำให้สู้ไม่ได้  ได้ถอยหนี้ตามอุบายที่เตรียมไว้  ทางพงศวดาษพม่าเขียนไว้ว่า “ทัพสยามทนฝีมือไม่ได้  แต่ได้นำยาพิษใส่ในห่อข้าว  และกระบอกน้ำทิ้งไว้  ทัพพม่าไม่รู้อุบาย ทำให้ตายไปซัก ๔๐๐”  

อุทยานประวัติศาสตร์สงคราม ๙ ทัพ บ้านโป่งปัด ตำบลช่องสะเดา

จากทั้งหมดที่กล่าวมา  ทำให้ทหารพม่าที่อ้อนล้า อดอยากอยู่แล้ว  หมดกำลังใจในการทำการรบ  จึงทำให้ไม่สามารถจะตีทัพกรมพระราชวังบวรฯ  ให้แตกได้  ซ้ำยังเสียไพร่พลไปจำนวนมากในสมรภูมิทุ่งลาดหญ้า   เมื่อทัพหน้าติดอยู่เช่นนั้น   จึงทำให้ทัพหลวงของพระเจ้าปดุงก็ไม่สามารถยกทัพตามลงมาได้เช่นกัน  เพราะทัพของพระองค์ก็ขาดเสบียง  เกรงว่าจะทำให้เป็นภาระมากกว่าจะเป็นประโยชน์   เมื่อพระองค์ได้ใคร่ครวญดีแล้ว  เพื่อไม่ให้เสียไพร่พลไปมากกว่านี้ จึงได้มีพระบัญชาให้ทุกทัพทุกเส้นทางกลับกรุงอมรปุระ


            จะเห็นว่าการสงครามครั้งนี้สยามรอดพ้นมหาภัยพิบัติมาได้  ก็ด้วยพระปรีชาสามารถของ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช  กรมพระราชวังบวรสุหสิงนาท  และของเหล่าขุนศึกคู่พระทัย  ซึ่งใช้ทั้งกลยุทธ์  ยุทธวิธี  และการข่าว  ผสมผสานเข้าเป็นแผนยุทธการที่แยบยล





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น